วันจันทร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

เขตอำนาจรัฐ (State Jurisdiction)
กิตติ  ชยางคกุล*

บทความนี้ผู้เขียนเรียบเรียงขึ้นเพื่อมีวัตถุประสงค์ในการอธิบายหลักการเรื่องเขตอำนาจของรัฐตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ เพื่อทำความเข้าใจถึงลักษณะของเขตอำนาจรัฐ และหลักในการการปรับใช้เขตอำนาจของรัฐซึ่งได้รับการรับรองตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศว่ามีลักษณะเช่นไร อย่างไร
โดยทั่วไปในทางกฎหมายระหว่างประเทศนั้นเมื่อเรากล่าวถึงคำว่า “เขตอำนาจ” (Jurisdiction) แล้ว โดยสารัตถะเราจะหมายถึง “อำนาจ” ซึ่งอำนาจในที่นี้เป็นอำนาจที่ไม่ได้จำกัดว่ามีได้เฉพาะแต่กับรัฐ (State) ซึ่งเป็นองค์ภาวะที่สำคัญซึ่งเป็นบุคคลตามกฎหมายระหว่างประเทศ (Subject of International Law) เท่านั้น หากแต่เป็นอำนาจที่บุคคลในทางระหว่างประเทศอื่นๆ ก็อาจมีได้ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะองค์การระหว่างประเทศ (International Organization) แต่ทั้งนี้เขตอำนาจที่บุคคลในทางระหว่างประเทศประเภทต่างๆ มีและใช้ได้นั้นย่อมแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับลักษณะของบุคคลในทางกฎหมายระหว่างประเทศแต่ละประเภทซึ่งมีความแตกต่างกันออกไป
หากพิจารณาถึงลักษณะของเขตอำนาจรัฐแล้ว เราพอที่จะนิยามความหมายของเขตอำนาจรัฐได้ว่า เขตอำนาจรัฐคือสิทธิของรัฐที่จะมีอำนาจบงการโดยกฎหมาย (The right to jurisdiction) ซึ่งเขตอำนาจรัฐนั้นเกิดขึ้นจากการที่กฎหมายระหว่างประเทศยอมรับว่ารัฐทุกรัฐมีอำนาจอธิปไตย (sovereign) อันเป็นอำนาจสูงสุด (Supreme) ในดินแดนของตนและเป็นอิสระ (Independence) สิทธิในการใช้อำนาจบงการโดยกฎหมายดังกล่าวเป็นสิทธิที่รัฐทุรัฐจะมีอยู่อย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน ไม่ว่ารัฐนั้นจะมีขนาดเล็ก หรือใหญ่ หรือจะมีประชากรมากหรือน้อยเพียงใดก็ตาม โดยจากการที่รัฐทุกรัฐจะมีเขตอำนาจรัฐ หมายถึงรัฐมีอำนาจในการออกกฎหมายให้มีผลกระทบต่อสิทธิของประชาชนภายในรัฐ และมีอำนาจที่จะจับกุมตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีและบังคับลงโทษเมื่อมีการละเมิดกฎหมายดังกล่าวนั้น

1.1    ลักษณะทั่วไปของการใช้เขตอำนาจของรัฐ
การใช้เขตอำนาจรัฐ หมายถึง การที่รัฐอธิปไตยทุกรัฐสามารถใช้อำนาจในการบัญญัติกฎหมายของตนขึ้นมาปรับใช้กับบุคคล เหตุการณ์ และทรัพย์สิน สามารถใช้อำนาจในการนำบุคคลเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในทางศาลและทางบริหาร และสามารถใช้อำนาจในการบังคับให้บุคคลต้องปฏิบัติตามกฎหมายและต้องมีการชดใช้หากไม่ปฏิบัติตาม หรื่อฝ่าฝืนบทบัญญัตินั้นจากลักษณะการใช้ดังกล่าวเท่ากับว่ารัฐมีสิทธิที่จะใช้อำนาจของของตนไปกระทบต่อสิทธิของบุคคลได้โดยใช่ผ่านทางองค์กรของรัฐซึ่งใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เขตอำนาจรัฐผ่านทางฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการก็ตาม จากลักษณะการใช้เขตอำนาจรัฐดังกล่าว เราจึงอาจแยกลักษณะการใช้เขตอำนาจรัฐออกได้เป็น 3 ลักษณะด้วยกัน คือ การใช้เขตอำนาจรัฐในทางบัญญัติ การใช้เขตอำนาจรัฐในการดำเนินคดี และการใช้เขตอำนารัฐในทางบังคับ
ก.           การใช้เขตอำนาจรัฐในทางบัญญัติ (legislative, prescriptive or substantive jurisdiction) เป็นการใช้อำนาจในการบัญญัติกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับต่างๆ  เพื่อใช้กับบุคคล สิ่งของ หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายในรัฐของตน โดยรัฐอาจใช้อำนาจนี้ผ่านทางฝ่ายนิติบัญญัติ หรือฝ่ายบริหาร
ข.            การใช้เขตอำนาจรัฐในการดำเนินคดี (judicial or adjudicatory jurisdiction) เป็นการปรับใช้เขตอำนาจรัฐเพื่อบังคับใช้กฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับต่างๆ  ที่ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติเป็นผู้ออก ที่ได้บัญญัติขึ้น ซึ่งได้แก่กรณีการใช้อำนาจเพื่อนำเอาตัวผู้กระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมภายในของรัฐ เพื่อดำเนินคดี (prosecution) และลงโทษ (punishment) อย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่การจับกุมตัว (arrest) การสืบสวน (investigation) การพิจารณาพิพากษาคดี (adjudication) รวมถึงการใช้ความร่วมมือในกระบวนการยุติธรรม (cooperation) การส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน (extradition) และการช่วยเหลือทางศาล (judicial assistance) โดยการใช้เขตอำนาจรัฐลักษณะนี้รัฐจะใช้ผ่านทางฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการซึ่งก็คือเขตอำนาจของศาลเป็นการใช้อำนาจในการบังคับใช้ดำเนินการตามกฎหมาย หลังจากที่ศาลภายในของรัฐได้ดำเนินคดีและิพากษาแล้ว การใช้เขตอำนาจรัฐในลักษณะนี้ก็คือ การบังคับคดี (enforcement) ตามคำพิพากษา ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยตัว หรือลงโทษที่ได้รับตามคำพิพากษา โดยการใช้เขตอำนาจรัฐลักษณะนี้รัฐจะใช้ผ่านทางฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ
ค.           การใช้เขตอำนาจรัฐในทางบังคับ (enforcement jurisdiction) เป็นอำนาจของรัฐในการบังคับให้บุคคลปฏิบัติตามกฎหมาย และให้บุคคลต้องชดใช้หากไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย
ทั้งนี้จากการแยกลักษณะของเขตอำนาจรัฐออกเป็นสามประการข้างต้นนั้น จะเห็นได้ว่ารัฐสามารถใช้เขตอำนาจของตนออกมาโดยการใช้ผ่านองค์กรของรัฐทั้งสามฝ่ายคือ  ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ ดังนั้นการใช้เขตอำนาจของรัฐจึงไม่ได้มีความหมายจำกัดเฉพาะในส่วนของการใช้เขตอำนาจทางศาล หรือการใช้เขตอำนาจรัฐผ่านฝ่ายตุลาการเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการที่รัฐใช้เขตอำนาจทางทางการบัญญัติกฎหมายและการบริหารอันเป็นการใช้อำนาจของของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารด้วย

1.2   หลักในการปรับใช้เขตอำนาจรัฐ
          เนื่องด้วยในบางกรณีนั้น เหตุการณ์เหตุการณ์หนึ่ง หนือข้อเท็จจริงใดข้อเท็จจริงหนึ่งที่เกิดขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อส่วนได้เสีย หรือผลประโยชน์ของรัฐมากกว่ารัฐใดรัฐหนึ่ง จึงอาจส่งผลให้รัฐทุกรัฐที่มีส่วนได้เสียหรือเกี่ยวข้องกัยกรณีตามข้อเท็จจริงนั้น ใช้เขตอำนาจรัฐเหนือกรณีนั้นๆเพื่อดำเนินคดีและลงโทษผู้กระทำความผิดได้ทั้งสิ้น ทำให้ในการปรับใช้เขตอำนาจของรัฐต่างๆ อาจจะขัดแย้งกันได้  ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงและขจัดปัญหาความขัดแย้งในการปรับใช้เขตอำนาจรัฐ รัฐจึงจะต้องปรับใช้เขตอำนาจรัฐตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ[6]
ในระบบกฎหมายระหว่างประเทศ การที่รัฐจะใช้เขตอำนาจรัฐได้หรือไม่เพียงใดนั้น ต้องพิจารณาถึงส่วนได้เสียทางกฎหมาย (legal interest) ที่รัฐมีเหตุการณ์นั้น[7]  กล่าวคือ การที่รัฐจะใช้เขตอำนาจรัฐนั้นรัฐต้องมีส่วนได้เสียทางกฎหมายที่พิเศษกว่าส่วนได้เสียทางกฎหมายของรัฐอื่นในความผิดที่เกิดขึ้น เช่นนั้นหากว่ารัฐใดประสงค์ที่จะดำเนินคดีและลงโทษผู้กระทำความผิด รัฐนั้นต้องแสดงให้เห็นได้ว่ารัฐมีส่วนได้เสียพิเศษทางกฎหมายอย่างชัดแจ้งกว่ารัฐอื่น และส่วนได้ส่วนเสียพิเศษทางกฎหมายนั้นจะต้องเป็นกรณีที่สอดคล้องตามหลักกฏหมายระหว่างประเทศในเรื่องเขตอำนาจรัฐที่นำมาปรับใช้ในทางอาญาด้วย[8]อันได้แก่ กรณีที่ความผิดเกิดขึ้นในดินแดนของรัฐ กรณีที่ความผิดกระทำโดยคนชาติของรัฐ และกรณีที่เหยื่อที่ได้รับความเสียหายเป็นคนชาติของรัฐ นั่นเอง
          ในระบบกฎหมายระหว่างประเทศนั้น มีทฤษฎีในการปรับใช้เขตอำนาจของรัฐเหนือการกระทำอาชญากรรมที่กฎหมายระหว่างประเทศรับรองให้รัฐสร้างและใช้อำนาจมีอยู่ 5 ประการด้วยกัน คือหลักดินแดน (Territoriality Principle) หลักสัญชาติ (Nationality or Active Personality Principle) หลักสัญชาติผู้เสียหาย (Passive Personality Principle) หลักป้องกัน (Protective Principle) และ หลักสากล (Universality Principle) [9]

1.2.1        การใช้เขตอำนาจรัฐตามหลักดินแดน (Territoriality Principle Jurisdiction)  การใช้เขตอำนาจรัฐตามหลักนี้เป็นหลักการที่ได้รับการยอมรับจากรัฐต่างๆ ในประชาคมระหว่างประเทศ และมีการใช้อยู่ทั่วไป โดยหลักการแล้วหลักดินแดนจะพิจารณาถึงสถานที่ที่การกระทำความผิดเกิดขึ้น ซึ่งรัฐทุกรัฐมีอำนาจที่จะออกกฎหมายและบังคับใช้กฎหมายเหนือบุคคล ทรัพย์สิน และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในดินแดนของรัฐ ไม่ว่าบุคคลนั้นๆ จะเป็นคนชาติของรัฐหรือไม่ หรือทรัพย์สินนั้นจะเป็นทรัพย์สินของคนชาติของตนหรือไม่ก็ตาม[10] หากว่าการกระทำความผิดนั้นเกิดขึ้นในดินแดนของรัฐ[11]แล้ว ศาลภายในของรัฐก็อาจใช้เขตอำนาจรัฐตามหลักดินแดนเพื่อดำเนินคดีและลงโทษผู้กระทำความผิดนั้นได้ ตัวอย่างเช่นบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 4 วรรคแรก ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้ใดกระทำความผิดในราชอาณาจักร ต้องรับโทษตามกฎหมาย” นอกากนั้นความหมายของการกระทำความผิดในราชอาณาจักร ยังรวมถึงการกระทำความผิดซึ่งเกิดขึ้นในเรือไทย หรืออากาศยานซึ่งมีสัญชาติไทย ไม่ว่าเรื่อหรืออากาศยานสัญชาติไทยนั้นจะอยู่มราใดก็ตาม ดังบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 4 วรรคสอง  ซึ่งบัญญัติว่า “การกระทำความผิดในเรือไทยหรืออากาศยานไทย ไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใด ให้ถือว่ากระทำความผิดในราชอาณาจักร”
ดังที่ได้กล่าวแล้วว่าการใช้เขตอำนาจรัฐตามหลักดินแดนนี้ พิจารณาที่สถานที่ที่การกระทำความผิดเกิดขึ้นเป็นหลัก ว่าต้องเป็นกรณีที่การกระทำความผิดนั้นเกิดขึ้นในดินแดนของรัฐ แต่ในบางกรณีการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นเป็นการกระทำความผิดซึ่งมีลักษณะคาบเกี่ยวกับรัฐตั้งแต่สองรัฐขึ้นไป กล่าวคือเป็นความผิดที่มีลักษณะต่อเนื่องข้ามจากดินแดนจากรัฐหนึ่งไปยังอีกรัฐหนึ่ง โดยเป็นกรณีความผิดซึ่งเริ่มกระทำในรัฐหนึ่ง และมากระทำสำเร็จในอีกรัฐหนึ่ง ถือว่าส่วนหนึ่งของการกระทำความผิดเกิดขึ้นในดินแดนของรัฐ ดังนั้นรัฐจึงชอบที่จะสามารถใช้เขตอำนาจรัฐด้วย ดังนั้นจึงอาจแยกลักษณะการใช้เขตอำนาจรัฐตามหลักดินแดนออกได้เป็น 2 ลักษณะด้วยกันคือ[12]
ก. การใช้เขตอำนาจรัฐตามหลักดินแดนที่เป็นอัตวิสัย (Subjective Territorial Jurisdiction) หมายถึงการใช้เขตอำนาจรัฐเหนือการกระทำความผิดอาญาที่เริ่มต้นกระทำในรัฐนั้น แต่ว่าผลของการกระทำนั้นไปสิ้นสุดในดินแดนของรัฐอื่น
ข. การใช้เขตอำนาจรัฐตามหลักดินแดนที่เป็นภาวะวิสัย (Objective Territorial Jurisdiction) หมายถึงการใช้เขตอำนาจรัฐเหนือการกระทำความผิดอาญาที่ได้กระทำลงสมบูรณ์และสิ้นสุดในดินแดนของตน แม้ว่าโดยองค์ประกอบของความผิด หรือการกระทำความผิดนั้นจะได้เริ่มต้นกระทำในรัฐอื่นก็ตาม
1.2.2 การใช้เขตอำนาจรัฐตามหลักสัญชาติ (Nationality or Active Personality Principle Jurisdiction) การใช้เขตอำนาจรัฐตามหลักนี้ เป็นการใช้เขตอำนาจโดยการพิจารณาถึงสัญชาติของบุคคล และทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด[13] ซึ่งรัฐผู้ให้สัญชาติย่อมมีสิทธิที่จะใช้เขตอำนาจเหนือบุคคล นิติบุคคล หรือทรัพย์สิน ไม่ว่าจะเป็นเรือหรืออากาศยานที่มีสัญชาติรัฐ โดยไม่จำต้องคำนึงถึงว่าบุคคล นิติบุคคล หรือทรัพย์สินนั้นอยู่ที่ใด[14]
1.2.3 การใช้เขตอำนาจรัฐตามหลักสัญชาติผู้เสียหาย (Passive Personality Principle Jurisdiction) การใช้เขตอำนาจรัฐตามหลักนี้  จะอาศัยสัญชาติของผู้เสียหายที่ตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมเป็นตัวกำหนดสิทธิในการใช้อำนาจของรัฐ    ซึ่งโดยปกติแล้วรัฐผู้ให้สัญชาติจะต้องมีหน้าที่ให้ความคุ้มครองแก่คนชาติของตน    แม้ว่าบุคคลนั้นจะอยู่นอกดินแดนของรัฐนั้นก็ตาม การใช้อำนาจตามหลักนี้จะคำนึงถึงผลของการกระทำความผิดมากกว่าสถานที่ที่ความผิดเกิดขึ้น    ดังนั้นศาลภายในของรัฐจึงอาจดำเนินคดีและลงโทษต่างชาติที่กระทำความผิด เป็นผลให้คนชาติของตน รวมถึงเรือหรืออากาศยานที่มีสัญชาติของตนได้รับความเสียหาย แม้ว่าความผิดนั้นจะเกิดขึ้นนอกดินแดนของรัฐก็ตาม[15]
1.2.4 การใช้เขตอำนาจรัฐตามหลักป้องกัน (Protective Principle Jurisdiction) การใช้เขตอำนาจรัฐตามหลักนี้ เป็นการใช้อำนาจของรัฐเพื่อป้องกันตัวเอง ในการดำเนินคดีและลงโทษผู้กระทำความผิดอาญา ที่เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผลประโยชน์ภายในของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการมุ่งต่อความมั่นคงภายในของรัฐ หรือต่อรัฐบาลของรัฐ ความเป็นอิสระทางการเมือง หรือความมั่นคงทางเศรษฐกิจของรัฐ โดยไม่ต้องคำนึงถึงสัญชาติของผู้กระทำความผิดดังกล่าวว่าจะมีสัญชาติของรัฐใด[16]
1.2.5 การใช้เขตอำนาจรัฐตามหลักสากล (Universality Principle Jurisdiction) การใช้เขตอำนาจตามหลักนี้ เป็นการใช้เขตอำนาจรัฐเพื่อดำเนินคดีและลงโทษผู้กระทำความผิดที่มีลักษณะเป็นสากลที่ส่งผลอาชญากรรมเหล่านี้กระทบต่อประชาคมระหว่างประเทศทั้งมวล เช่น การกระทำอันเป็นโจรสลัด (piracy)[17] การค้าทาส (slave trading) การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (genocide) อาชญากรรมสงคราม (war crimes) อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (crimes against humanity) และ การทรมาน (torture) เป็นต้น ซึ่งเป็นความผิดต่อผลประโยชน์มูลฐานของประชาคมระหว่างประเทศทั้งมวล (crimes against fundamental interests of international community as a whole)[18] ที่รัฐทุกรัฐในประชาคมระหว่างประเทศที่ผู้กระทำความผิดปรากฏตัวขึ้นในดินแดนของรัฐ อาจดำเนินคดีและลงโทษผู้กระทำความผิดนั้นได้ แม้ว่ารัฐนั้นจะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการกระทำความผิดนั้นก็ตาม


* น.บ. (ธรรมศาสตร์), น.ม. (กฎหมายระหว่างประเทศ) (จุฬาฯ) อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย
[1] รัฐเป็นองค์ภาวะ ที่เป็นบุคคลตามกฎหมายระหว่างประเทศซึ่งมีบทบาทมากที่สุดในประชาคมระหว่างประเทศ รัฐมีองค์ประกอบ 4 ประการ คือ ดินแดนที่แน่นอน พลเมืองที่คงที่ รัฐบาล และความสามารถในการมีความสัมพันธ์กับรัฐอื่นๆ
[2] Henkin, Pugh, Schachter, et. al., International Law, Cases and Materials, (West Publishing, 1980), p.421,  อ้างถึงใน จุมพต สายสุนทร, กฎหมายระหว่างประเทศ, (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์เดือนตุลา, 2540), หน้า 239-240.
[3] สุผานิต มั่นศุข, กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีอาญา (กรุงเทพมหานคร : คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2523), หน้า 9-11. (เอกสารอัดสำเนา)
[4] Kenneth C. Randall, “Universal Jurisdiction Under International Law,” Texas Law Review  66 (March 1988) : 786
[5] Ibid., แต่อย่างไรก็ดีนักนิติศาสตร์บางท่าน เช่น D. O’ Connell ได้แบ่งลักษณะการใช้เขตอำนาจรัฐออกเป็นเพียง 2 ลักษณะเท่านั้น คือ การใช้เขตอำนาจรัฐในทางบัญญัติ (jurisdiction to prescribe) และการใช้เขตอำนาจรัฐในทางบังคับ (jurisdiction to enforce), โปรดดูรายละเอียดใน D. O’ Connell, Jurisdiction over States for Crimes of State (n.p., 1965), p. 599, cited in Richard R. Baxter, “The Municiple and International Law Basis of Jurisdiction over War Crimes,” in A Treatise on International Criminal Law Vol. II, eds. M. Cherif Bassiouni and Ved P. Nanda, p. 87.
[6] Kenneth C. Randall, “Universal Jurisdiction Under International Law,” : 786.
[7] Ibid.
[8] Ibid., : 787-788.
[9] Harvard Research, “Jurisdiction in Respect to Crime,” American Journal of International Law  29 (1935) : 439, cited in Gerhard O. W. Mueller and Edward M. Wise, eds., International Criminal Law  (London : Sweet & Maxwell, 1965), pp. 41-47.
[10] จุมพต สายสุนทร, กฎหมายระหว่างประเทศ, หน้า 244.
[11] คำว่า ดินแดนของรัฐหมายถึงดินแดนที่รัฐมีอำนาจอธิปไตยเหนือ ได้แก่ ดินแดนของรัฐส่วนที่เป็นแผ่นดิน และทะเล ซึ่งในดินแดนของรัฐส่วนที่เป็นทะเลนี้ก็คือดินแดนในส่วนทะเลที่รัฐสามารถใช้เขตอำนาจรัฐได้ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ได้แก่ ทะเลอาณาเขต  (Territorial Sea) ซึ่งรัฐชายฝั่งสามารถใช้อำนาจอธิปไตยเหนือทะเลอาณาเขต รวมถึงห้วงอากาศ (air space) เหนือทะเลอาณาเขต พื้นดินท้องทะเล (sea-bed) และดินใต้ผิวดิน (subsoil) และส่วนที่ถัดออกไปจากทะเลอาณาเขต ซึ่งรัฐสามารถกล่าวอ้างใช้สิทธิต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็น เขตเศรษฐกิจจำเพาะ (Exclusive Economic Zone : EEZ) และไหล่ทวีป (Continental Shelf) โปรดดูรายละเอียดใน จุมพต สายสุนทร, กฎหมายระหว่างประเทศ, หน้า 242 - 244 ; อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.. 1982 (United Nations Convention on the Law of the Sea 1982) มาตรา 2, 33(1), 56(1) (a) และ 77(1).
[12] จุมพต สายสุนทร, กฎหมายระหว่างประเทศ, หน้า 244
[13] เทียบกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 8 บัญญัติว่า
ผู้ใดกระทำความผิดนอกราชอาณาจักร และ
(ก)     ผู้กระทำความผิดนั้นเป็นคนไทย และรัฐบาลแห่งประเทศที่ความผิดนั้นได้เกิดขึ้น หรือผู้เสียหายได้ร้องขอให้ลงโทษ หรือ
(ข)        ….
ถ้าความผิดนั้นเป็นความผิดดังระบุไว้ต่อไปนี้ จะต้องรับโทษภายในราชอาณาจักร…”
[14] การที่รัฐจะให้สัญชาติแก่บุคคล นิติบุคคล หรือทรัพย์สินใด เป็นอำนาจที่รัฐมีโดยตรง แต่ในการที่รัฐจะใช้อำนาจในการให้สัญชาติ รวมถึงการถอนสัญชาตินี้ ต้องไม่เป็นการใช้สิทธิขัดกับสิทธิของรัฐอื่น และต้องอยู่ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศด้วย, โปรดดูรายละเอียดใน จุมพต สายสุนทร, กฎหมายระหว่างประเทศ, หน้า 255-258.
เทียบกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 8 บัญญัติว่า  
ผู้ใดกระทำความผิดนอกราชอาณาจักร และ
(ก)      
(ข)        ผู้กระทำความผิดนั้นเป็นต่างด้าว และรัฐบาลไทยหรือคนไทยเป็นผู้เสียหาย และผู้เสียหายได้ร้องขอให้ลงโทษ
ถ้าความผิดนั้นเป็นความผิดดังระบุไว้ต่อไปนี้ จะต้องรับโทษภายในราชอาณาจักร…”
เทียบกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 7 (1), (2).
กับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 7 (2ทวิ), (3)
[18]Stephen Macedo, ed., The Princeton Principles on Universal Jurisdiction (New Jersey : Princeton University, 2001), p.23.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น